วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

โครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู

ความเป็นมาของโครงการ
     
                    ปัญหาหลักในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการรุนแรงที่รับบริการทางการศึกษาที่บ้านได้ดังนี้ คือ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และเด็กพิการที่อยู่ห่างไกลยังไม่สามารถเดินทางมารับบริการที่ศูนย์การศึกษาพิเศษได้ ครอบครัวเด็กพิการมีฐานะยากจน ผู้ปกครองขาดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพ กิจกรรมการเรียนรู้ยังไม่มีหลักสูตรที่เหมาะสม กระบวนการจัดการเรียนรู้ในครอบครัวยังขาดทักษะในการจัดการเรียนรู้ของเด็กพิการ สื่อ และเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนยังไม่เพียงพอ การให้บริการเตรียมความพร้อมและการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มยังมีข้อจำกัดไม่ทั่วถึง และจัดการศึกษาอบรมแก่
ผู้ดูแลคนพิการ ครู บุคลากร และชุมชน ยังไม่สามารถให้บริการสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กพิการรุนแรงที่รับบริการทางการศึกษาอยู่ที่บ้านยังขาดการวิจัยและการพัฒนาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
                   จากสภาพปัญหาดังกล่าวทำให้ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดอุทัยธานี และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดแผนการดำเนินงานและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ  จึงได้จัดทำโครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียนเปลี่ยนพ่อแม่เป็นครูขึ้น เพื่อให้พ่อ แม่ ผู้ปกครองมีเจตคติ ความรู้ ทักษะในการพัฒนาศักยภาพ และจัดการศึกษาแก่เด็กพิการรุนแรงที่รับบริการทางการศึกษาที่บ้านได้เหมาะสมตรงตามความต้องการจำเป็นพิเศษของแต่ละบุคคล และเพื่อจัดการศึกษาอบรมแก่ผู้ดูแลคนพิการ ครู บุคลากรตลอดจนชุมชน รวมทั้งการจัดสื่อ เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา โดยการสร้างและพัฒนารูปแบบการบริหารการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาให้เด็กพิการมีพัฒนาการด้านการบริหาร
เชิงระบบ กระบวนการบริหารแบบมีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการที่มีระดับความพิการรุนแรง มีที่อยู่อาศัยห่างไกลจากแหล่งให้บริการทั้งด้านการจัดการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงครอบครัวมีฐานะยากจน โดยในกระบวนการดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเตรียมการ ระยะดำเนินการ และระยะติดตามผลการดำเนินงาน

วัตถุประสงค์ของโครงการ

         1. เพื่อให้ผู้ดูแลเด็กพิการรุนแรงที่รับบริการทางการศึกษาที่บ้านได้มีเจตคติ ความรู้ และทักษะการจัดการศึกษาให้กับเด็กพิการรุนแรงที่รับบริการทางการศึกษาที่บ้าน
         2. เพื่อให้เด็กพิการรุนแรงได้รับการพัฒนาศักยภาพทั้ง 7 ทักษะ ตามศักยภาพ คือ
                     2.1 ทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก
                     2.2 ทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่
                     2.3 ทักษะทางการช่วยเหลือตนเอง
                     2.4 ทักษะทางภาษาและการสื่อสาร
                     2.5 ทักษะทางด้านสังคม
                     2.6 ทักษะทางวิชาการ
                     2.7 ทักษะพิเศษเฉพาะความพิการ
         3. เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ โดยปรับบ้านเป็นห้องเรียนเปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู


                                                              รวบรวมข้อมูลและดำเนินการโครงการ
                                                              นางกิตติญา  บุญจันทร์  (ครูสน)
                                                              นายสุรวิช  จริยเดช  (ครูกุ๊ก)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น